วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

ส่วนประกอบของเครื่องฉาย

เครื่องฉาย หมายถึง เครื่องที่ใช้หลอดฉายเป็นต้นกำเนิดแสง โดยแสงสว่างจากหลอดฉายส่องผ่านวัสดุฉาย และเลนส์ฉายให้ภาพไปปรากฏบนจอ ภาพที่ได้จะเป็นภาพขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้กลุ่มผู้ดูขนาดต่างๆ ได้ศึกษา เช่น การฉายสไลด์ การฉายภาพยนตร์ เป็นต้น นอกจากหลอดฉายและเลนส์ฉาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องฉายแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันเกิดเป็นระบบการฉายขึ้นเครื่องฉายทุกชนิดจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กัน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้

7.1.1 หลอดฉาย (Projection Lamp) เครื่องฉายทุกชนิดใช้หลอดฉายเป็นแหล่งกำเนิดแสงเพื่อให้ภาพไปปรากฏบนจอ หลอดฉายในเครื่องฉายให้กำลังส่องสว่างมากกว่าหลอดไฟธรรมดาที่ใช้ตามบ้าน เพื่อให้ได้ภาพบนจอมีความสว่างชัดเจน หลอดฉายบางชนิดติดแผ่นสะท้อนแสงในตัวหลอด เพื่อช่วยเพิ่มความสว่างของหลอดฉายให้มากขึ้น หลอดฉายที่ใช้ในเครื่องฉายทั่วๆ ไปมี 3 ชนิด แต่ละชนิดมีรูปร่าง ลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกัน
1) หลอดอินแคนเดสเซนต์ (Incandescent Lamp) เป็นหลอดที่มีไส้หลอดทำด้วย โลหะทังสเตน มีลักษณะเป็นใยลวด (Tungsten Wire) มีความต้านทานสูงภายในบรรจุก๊าซไนโตรเจน (Nitrogen) หรือก๊าซอาร์กอน (Argon) หลอดชนิดที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าหลอดชนิดอื่นๆ เฉลี่ยแล้วใช้งานประมาณ 25 ชั่วโมง เนื่องจากหลอดชนิดนี้มีความร้อนสูง จึงต้องออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าหลอดชนิดอื่น
2) หลอดฮาโลเจน (Halogen Lamp) เป็นหลอดที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มีอายุ การใช้งานนานขึ้น ไส้หลอดทำด้วยโลหะทังสเตน ภายในบรรจุสารจำพวกฮาโลเจน ไอโอดีน (Halogen Iodine) ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับปริมาณของก๊าซเฉื่อย หลอดชนิดนี้ให้แสงสว่างขาวนวล และสว่างกว่าชนิดแรก สามารถทนความร้อนได้สูง มีขนาดเล็กกะทัดรัด หลอดชนิดนี้ใช้แรงเคลื่อนไฟฟ้าไม่สูงมากนัก ประมาณ 8-30 โวลท์เท่านั้น เช่นหลอดที่ใช้เครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป ใช้ขนาด 24 โวลท์ 150 วัตต์ เครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. ใช้ขนาด 24 โวลท์ 250 วัตต์ เป็นต้น
3) หลอดภาพคว๊อด-ไอโอดีน (Quartz Iodine) มีลักษณะเหมือนหลอดฮาโลเจน แต่ใช้หินคว๊อดทำหลอดแก้ว หินคว๊อดมีคุณสมบัติทนความร้อน และแข็งมาก รับแรงไฟได้สูง มีความสว่างเข้ม ขาวนวลกว่าหลอดชนิดอื่นการระวังรักษาหลอดฉาย

การใช้งานของหลอดฉาย เมื่อเทียบกับหลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน หลอดฉายจะมีอายุการใช้งานสั้นมาก ในขณะที่หลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน มีอายุการใช้งานถึง 1000 ชั่วโมง(เปิดติดต่อกัน) หลอดฉายโดยทั่วไปจะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ชั่วโมง หลอดฮาโลเจนประมาณ 75 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม บางหลอดอาจจะมีอายุการใช้งานมากหรือน้อยกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เครื่อง มีองค์ประกอบหลายประการที่ทำให้อายุการใช้งานหลอดสั้นลง ผู้ใช้จึงควรใช้ความระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
1) ไม่ควรเปิดหลอดฉายบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น
2) การเคลื่อนย้ายเครื่องฉายไม่ควรให้กระทบกระเทือนมาก ไส้หลอดอาจขาดได้
3) ไม่ควรเคลื่อนที่เครื่องฉายขณะไส้ขาด ควรปิดหลอดฉายก่อน และเคลื่อนที่ เครื่องฉายด้วยความระมัดระวัง
4) ไม่ควรใช้นิ้วมือจับหลอดฉาย เพราะไขมัน ความเค็มและความชื้นจากนิ้วมือ จะทำให้หลอดเป็นคราบดำ เมื่อหลอดฉายทำให้การระบายความร้อนของหลอดไม่ดี และทำให้การขยายและหดตัวของหลอดเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ทั้งยังให้ความสว่างของหลอดฉายลดลงอีกด้วย ถ้าหลอดสกปรกโดยเฉพาะจากคราบนิ้วมือ ควรใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์เช็ดให้สะอาด ดังนั้นในการเปลี่ยนหลอดฉายแต่ละครั้งจึงควรใช้ผ้า ฟองน้ำ หรือถุงพลาสติกหุ้มหลอดก่อนจับหลอดทุกครั้ง
5) หลังจากปิดหลอดฉายแล้ว ต้องเปิดสวิทซ์พัดลมทิ้งไว้จนกว่าหลอดฉายเย็น จึงเก็บเครื่องฉายได้ ในกรณีที่สวิทซ์พัดลมกับหลอดฉายเป็นอันเดียวกัน หลังจากเลิกฉายควรทิ้งเครื่องไว้สักครู่ จึงค่อยเก็บเครื่อง เพื่อมิให้หลอดได้รับความกระทบกระเทือนขณะหลอดฉายยังหลอดอยู่

7.1.2 แผ่นสะท้อนแสง (Reflector) มีลักษณะคล้ายกะทะ ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ฉาบด้วยผิวด้านหน้าหรือด้านเว้าด้วยวัสดุสะท้อนแสง เช่น ปรอท เงินหรืออลูมิเนียม หรือทำด้วยวัสดุสะท้อนแสงทั้งอัน เช่นทำด้วยเงินหรืออลูมิเนียม ติดตั้งด้วยเงินหรืออลูมิเนียม ติดตั้งอยู่หลังหลอดฉาย ทำหน้าที่รับแสงจากหลอดฉาย แล้วสะท้อนกลับด้านหน้า ทำให้แสงมีความเข้มมากขึ้น เป็นการช่วยลดการสูญเสียของแสงจากหลอดฉายโดยเฉพาะด้านหลัง เครื่องฉายบางชนิดไม่มีแผ่นสะท้อนแสงเพราะแผ่นสะท้อนแสงถูกสร้างขึ้นภายในหลอดฉายหรือติดอยู่กับหลอดฉายแล้ว การรักษาแผ่นสะท้อนแสง
1) ไม่ควรใช้มือจับแผ่นสะท้อนแสงโดยเฉพาะด้านเว้าหรือด้านหน้า จะทำให้ สกปรกเป็นรอย ทำให้สะท้อนแสงได้ไม่ดีเท่าที่ควร
2) ควรทำความสะอาดแผ่นสะท้อนแสงด้วยผ้านุ่มๆ เมื่อมีฝุ่นจับ
3) ถ้ามีรอยสกปรกหรือรอยขีดข่วนมากไม่สามารถแก้ไขได้ให้เปลี่ยนใหม่ หรือ ถ้าทำด้วยเงินให้นำไปชุบเงินใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: