วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สาระสำคัญ

1. ส่วนประกอบโดยทั่วไปของเครื่องฉายทุกประเภท จะประกอบด้วย หลอดฉาย แผ่นสะท้อนแสง เลนส์รวมแสง กระจกกรองความร้อน กระจดเงา เลนส์ฉาย และพัดลม
2. ระบบการฉาย แบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ ได้แก่ ระบบฉายตรง ได้แก่ เครื่องฉายสไลด์ ฟิล์มสตริป และภาพยนตร์ ระบบฉายอ้อม ได้แก่ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ และระบบฉายสะท้อนได้แก่ เครื่องฉายภาพทึบแสง ทั้ง 3 ระบบ ต้องการความมืดในการฉายมากน้อย เรียงตามลำดับดังนี้ ระบบฉายสะท้อน ระบบฉายตรง และระบบการฉายอ้อม
3. จอฉายภาพ คือวัสดุสำหรับรับแสงจากเครื่องฉาย แล้วสะท้อนเข้าสู่ตาผู้ชม จอที่มีคุณภาพดี สามารถสะท้อนแสงได้ดี คือสะท้อนได้ทั้งไกล และมีมุมสะท้อนกว้างด้วย
4. ห้องฉายที่ดี ต้องสามารถควบคุมความสว่าง การระบายอากาศ และระบบเสียงได้ดี การจัดที่นั่ง และจอฉาย ควรจัดให้เหมาะสมด้วย

จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม

1. อธิบายหน้าที่การทำงาน และการระวังรักษาส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญของเครื่องฉายได้อย่างถูกต้อง
2. อธิบายโครงสร้างและหลักการของเครื่องฉายระบบต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
3. อธิบายถึงการเลือกใช้จอฉายภาพได้อย่างถูกต้อง
4. อธิบายหลักการในการจัดห้องฉายได้

ส่วนประกอบของเครื่องฉาย

เครื่องฉาย หมายถึง เครื่องที่ใช้หลอดฉายเป็นต้นกำเนิดแสง โดยแสงสว่างจากหลอดฉายส่องผ่านวัสดุฉาย และเลนส์ฉายให้ภาพไปปรากฏบนจอ ภาพที่ได้จะเป็นภาพขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้กลุ่มผู้ดูขนาดต่างๆ ได้ศึกษา เช่น การฉายสไลด์ การฉายภาพยนตร์ เป็นต้น นอกจากหลอดฉายและเลนส์ฉาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องฉายแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันเกิดเป็นระบบการฉายขึ้นเครื่องฉายทุกชนิดจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กัน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้

7.1.1 หลอดฉาย (Projection Lamp) เครื่องฉายทุกชนิดใช้หลอดฉายเป็นแหล่งกำเนิดแสงเพื่อให้ภาพไปปรากฏบนจอ หลอดฉายในเครื่องฉายให้กำลังส่องสว่างมากกว่าหลอดไฟธรรมดาที่ใช้ตามบ้าน เพื่อให้ได้ภาพบนจอมีความสว่างชัดเจน หลอดฉายบางชนิดติดแผ่นสะท้อนแสงในตัวหลอด เพื่อช่วยเพิ่มความสว่างของหลอดฉายให้มากขึ้น หลอดฉายที่ใช้ในเครื่องฉายทั่วๆ ไปมี 3 ชนิด แต่ละชนิดมีรูปร่าง ลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกัน
1) หลอดอินแคนเดสเซนต์ (Incandescent Lamp) เป็นหลอดที่มีไส้หลอดทำด้วย โลหะทังสเตน มีลักษณะเป็นใยลวด (Tungsten Wire) มีความต้านทานสูงภายในบรรจุก๊าซไนโตรเจน (Nitrogen) หรือก๊าซอาร์กอน (Argon) หลอดชนิดที่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าหลอดชนิดอื่นๆ เฉลี่ยแล้วใช้งานประมาณ 25 ชั่วโมง เนื่องจากหลอดชนิดนี้มีความร้อนสูง จึงต้องออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าหลอดชนิดอื่น
2) หลอดฮาโลเจน (Halogen Lamp) เป็นหลอดที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มีอายุ การใช้งานนานขึ้น ไส้หลอดทำด้วยโลหะทังสเตน ภายในบรรจุสารจำพวกฮาโลเจน ไอโอดีน (Halogen Iodine) ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับปริมาณของก๊าซเฉื่อย หลอดชนิดนี้ให้แสงสว่างขาวนวล และสว่างกว่าชนิดแรก สามารถทนความร้อนได้สูง มีขนาดเล็กกะทัดรัด หลอดชนิดนี้ใช้แรงเคลื่อนไฟฟ้าไม่สูงมากนัก ประมาณ 8-30 โวลท์เท่านั้น เช่นหลอดที่ใช้เครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป ใช้ขนาด 24 โวลท์ 150 วัตต์ เครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. ใช้ขนาด 24 โวลท์ 250 วัตต์ เป็นต้น
3) หลอดภาพคว๊อด-ไอโอดีน (Quartz Iodine) มีลักษณะเหมือนหลอดฮาโลเจน แต่ใช้หินคว๊อดทำหลอดแก้ว หินคว๊อดมีคุณสมบัติทนความร้อน และแข็งมาก รับแรงไฟได้สูง มีความสว่างเข้ม ขาวนวลกว่าหลอดชนิดอื่นการระวังรักษาหลอดฉาย

การใช้งานของหลอดฉาย เมื่อเทียบกับหลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน หลอดฉายจะมีอายุการใช้งานสั้นมาก ในขณะที่หลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน มีอายุการใช้งานถึง 1000 ชั่วโมง(เปิดติดต่อกัน) หลอดฉายโดยทั่วไปจะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ชั่วโมง หลอดฮาโลเจนประมาณ 75 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม บางหลอดอาจจะมีอายุการใช้งานมากหรือน้อยกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เครื่อง มีองค์ประกอบหลายประการที่ทำให้อายุการใช้งานหลอดสั้นลง ผู้ใช้จึงควรใช้ความระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
1) ไม่ควรเปิดหลอดฉายบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น
2) การเคลื่อนย้ายเครื่องฉายไม่ควรให้กระทบกระเทือนมาก ไส้หลอดอาจขาดได้
3) ไม่ควรเคลื่อนที่เครื่องฉายขณะไส้ขาด ควรปิดหลอดฉายก่อน และเคลื่อนที่ เครื่องฉายด้วยความระมัดระวัง
4) ไม่ควรใช้นิ้วมือจับหลอดฉาย เพราะไขมัน ความเค็มและความชื้นจากนิ้วมือ จะทำให้หลอดเป็นคราบดำ เมื่อหลอดฉายทำให้การระบายความร้อนของหลอดไม่ดี และทำให้การขยายและหดตัวของหลอดเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ทั้งยังให้ความสว่างของหลอดฉายลดลงอีกด้วย ถ้าหลอดสกปรกโดยเฉพาะจากคราบนิ้วมือ ควรใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์เช็ดให้สะอาด ดังนั้นในการเปลี่ยนหลอดฉายแต่ละครั้งจึงควรใช้ผ้า ฟองน้ำ หรือถุงพลาสติกหุ้มหลอดก่อนจับหลอดทุกครั้ง
5) หลังจากปิดหลอดฉายแล้ว ต้องเปิดสวิทซ์พัดลมทิ้งไว้จนกว่าหลอดฉายเย็น จึงเก็บเครื่องฉายได้ ในกรณีที่สวิทซ์พัดลมกับหลอดฉายเป็นอันเดียวกัน หลังจากเลิกฉายควรทิ้งเครื่องไว้สักครู่ จึงค่อยเก็บเครื่อง เพื่อมิให้หลอดได้รับความกระทบกระเทือนขณะหลอดฉายยังหลอดอยู่

7.1.2 แผ่นสะท้อนแสง (Reflector) มีลักษณะคล้ายกะทะ ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ฉาบด้วยผิวด้านหน้าหรือด้านเว้าด้วยวัสดุสะท้อนแสง เช่น ปรอท เงินหรืออลูมิเนียม หรือทำด้วยวัสดุสะท้อนแสงทั้งอัน เช่นทำด้วยเงินหรืออลูมิเนียม ติดตั้งด้วยเงินหรืออลูมิเนียม ติดตั้งอยู่หลังหลอดฉาย ทำหน้าที่รับแสงจากหลอดฉาย แล้วสะท้อนกลับด้านหน้า ทำให้แสงมีความเข้มมากขึ้น เป็นการช่วยลดการสูญเสียของแสงจากหลอดฉายโดยเฉพาะด้านหลัง เครื่องฉายบางชนิดไม่มีแผ่นสะท้อนแสงเพราะแผ่นสะท้อนแสงถูกสร้างขึ้นภายในหลอดฉายหรือติดอยู่กับหลอดฉายแล้ว การรักษาแผ่นสะท้อนแสง
1) ไม่ควรใช้มือจับแผ่นสะท้อนแสงโดยเฉพาะด้านเว้าหรือด้านหน้า จะทำให้ สกปรกเป็นรอย ทำให้สะท้อนแสงได้ไม่ดีเท่าที่ควร
2) ควรทำความสะอาดแผ่นสะท้อนแสงด้วยผ้านุ่มๆ เมื่อมีฝุ่นจับ
3) ถ้ามีรอยสกปรกหรือรอยขีดข่วนมากไม่สามารถแก้ไขได้ให้เปลี่ยนใหม่ หรือ ถ้าทำด้วยเงินให้นำไปชุบเงินใหม่

ระบบการฉาย

ระบบของเครื่องฉาย หมายถึง กระบวนการที่เครื่องฉายต่างๆ ฉายภาพจากเครื่องฉายไปปรากฏบนจอ ระบบของเครื่องฉายโดยทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 3 ระบบคือ

7.2.1 ระบบฉายตรง (Direct Projection System) เครื่องฉายระบบนี้แสงจากหลอดฉายจะสะท้อนกลับไปทางด้านหน้าโดยอาศัยแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งอยู่หลังหลอดฉายลำแสงจะส่องผ่านเลนส์รวมแสง ซึ่งเป็นเลนส์นูน 2 ตัว หันด้านนูนเข้ากัน เลนส์นูนชุดนี้ทำหน้าที่บีบลำแสงเพื่อให้แสงมีความเข้มมากขึ้นและไปตกกระทบวัสดุฉายพอดี แสงจะผ่ายวัสดุฉายผ่านเลนส์ฉายซึ่งเป็นเลนส์นูนเช่นกัน ภาพที่ปรากฏบนจอจะเห็นภาพหัวกลับ เนื่องจากคุณสมบัติของเลนส์นูน ซึ่งให้ภาพกลับหัวลง จะเห็นว่าเครื่องฉายระบบนี้ แสงจากหลอดฉายผ่านเลนส์รวมแสง ผ่านวัสดุฉาย ไปยังจอเป็นเส้นตรง จึงเรียกเครื่องฉายระบบนี้ว่า ระบบฉายตรง เครื่องฉายระบบนี้ได้แก่ เครื่องฉายภาพบยนตร์ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายฟิล์มสตริป

7.2.2 ระบบฉายอ้อม (Indirect Projection System) เครื่องฉายระบบนี้ ไม่ใช่เลนส์รวมแสง ฉายโดยระบบการสะท้อนแสงของกระจกเงารอบๆ เครื่อง (รอบๆ วัสดุฉาย) แสงที่สะท้อนไปยังกระจกเงาอีกตัวหนึ่งซึ่งอยู่ด้านบนของวัสดุฉาย และสะท้อนฝ่ายเลนส์ออกสู่จอ การฉายระบบนี้มีการสูญเสียความเข้มของแสงมาก อีกทั้งแสงไม่ได้ผ่านวัสดุฉายโดยตรง ทำให้ภาพบนจอไม่สว่างเท่าที่ควร จึงต้องฉายให้ห้องฉายที่ความมืดมากๆ ภาพจึงจะดูชัดเจน เครื่องฉายระบบนี้ได้แก่ เครื่องฉายภาพทึบแสง (Opaque Projector)

7.2.2 ระบบฉายสะท้อน (Reflective Projection System) เครื่องฉายระบบนี้ ไม่ใช้เลนส์รวมแสง ฉายโดยระบบการสะท้อนแสงของกระจกเงารอบๆ เครื่อง(รอบๆ วัสดุฉาย) แสงที่สะท้อนไปยังกระจกเงาอีกตัวหนึ่งซึ่งอยู่ด้านบนของวัสดุฉาย และสะท้อนฝ่าเลนส์ออกสู่จอ การฉายระบบนี้มีการสูญเสียความเข้มของแสงมาก อีกทั้งแสงไม่ได้ผ่านวัสดุฉายโดยตรงทำให้ภาพบนจอภาพไม่สว่างเท่าที่ควร จึงต้องฉายให้ห้องฉายที่มีความมืดมากๆ ภาพจึงดูชัดเจน เครื่องฉายระบบนี้ได้แก่ เครื่องฉายภาพทึบแสง (Cpaqua Projector)

จอฉายภาพและการเลือกใช้

จอฉายภาพทั่วไป คือวัสดุสำหรับรับแสงจากเครื่องฉายแล้วสะท้อนเข้าสู่ตาผู้ชม เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพ โดยทั่วไปจอที่มีคุณภาพดีจะสามารถสะท้อนแสงได้ดี คือ สามารถสะท้อนแสงได้ไกลและสะท้อนเป็นมุมกว้างด้วย ความสว่างและความคมชัดของภาพบนจอ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการสะท้อนของแสงบนจอด้วย

7.3.1 ชนิดของจอฉายภาพ จอฉายภาพมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้งานในลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้
1) จอแก้ว (Beaded Screen) เป็นจอที่มีผิวสีขาว ผิวจอฉาบด้วยแก้วเม็ดละเอียดเป็น จำนวนมาก เมื่อถูกแสงจะสะท้อนได้ดีมาก คือสะท้อนได้ไปไกล แต่มุมสะท้อนค่อนข้างแคบ คือ ทำมุม ข้างละ 20-25 องศา กับแกนกลางของลำแสงที่ฉายเหมาะสำหรับใช้งานในห้องที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยติดตั้งจอทางด้านกว้างของห้องฉาย
2) จอผิวเรียบ (Matte Screen) เป็นจอที่มีผิวขาวเรียบไม่เป็นมันมาก ฉาบด้วยผงวัสดุ สะท้อนแสง (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) จอชนิดนี้สะท้อนแสงได้น้อยกว่าจอแก้ว แต่แสงที่สะท้อนออกมามีมุมกว้างกว่า คือ ทำมุมข้างละ 30 องศากับแกนกลางของลำแสงที่ฉาย เหมาะสำหรับใช้ในห้องที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือในห้องที่ผู้ชมต้องนั่งกระจัดกระจายกันออกไปทั้งสองข้างของห้อง
3) จอเงินหรือจออลูมิเนียม (Silver or Aluminium Screen) จอชนิดนี้ใช้วัสดุประเภท พลาสติกหรือแผ่นอลูมิเนียมบางๆ เป็นผิวจอ ซึ่งยากแก่การบำรุงรักษา ปัจจุบันไม่นิยมใช้
4) จอเลนติคูลา (Lenticular Screen) ทำด้วยพลาสติกชนิดหนาหรือเนื้อผ้าสีเงินซึ่งมีผิว เป็นร่องและมีสันนูนสลับกัน จอชนิดนี้สะท้อนได้ดีพอๆ กับจอแก้ว และมุมสะท้อนกว้างกว่าจอผิวเรียบ คือ มุมสะท้อน ข้างละ 45 องศากับแกนกลางของลำแสงที่ฉาย จึงให้ภาพที่สว่างชัดเจนมาก แม้ว่าห้องจะไม่มืดสนิทก็ตาม สรุปแล้วจอชนิดนี้มีคุณสมบัติทั้งจอแก้วและจอผิวเรียบรวมกัน
5) จอเอดตาไลท์ (Ejtalite) มีคุณสมบัติสะท้อนแสงได้ดีมาก ทำด้วยอลูมิเนียม มีลักษณะ โค้งเว้าเล็กน้อย ซึ่งช่วยเกลี่ยแสงบนจอให้สม่ำเสมอ ให้มุมสะท้อนแสงพอๆ กับจอผิวเรียบ แต่สะท้อนได้มากกว่าถึง 12 เท่า เป็นจอชนิดพิเศษ ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ตามห้องเรียนทั่วๆ ไป โดยไม่ต้องควบคุมแสงสว่างมากนัก จอชนิดนี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 40x40 นิ้ว ไม่สามารถพับเก็บได้ เหมาะสำหรับฉายภาพยนตร์ สไลด์ และฟิล์มสตริปที่เป็นสี แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เพราะให้แสงสะท้อนจ้ามาก
6) จอโปร่งแสง (Translucent Screen1) หรือจอภาพจากด้านหลัง (Rear Projection) จอ ประเภทที่ทำด้วยวัสดุโปร่งแสง เช่น กระจกฝ้า พลาสติกฝ้า หรือกระดาษชุบไข การฉายภาพจะฉายจากด้านหลังของจอ ผู้ชมจะเห็นภาพโดยการที่แสงผ่านออกมา ห้องที่มีแสงสว่างตามปกติได้ จอชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จอฉายกลางวัน

ห้องฉาย

ในการจัดห้องฉายที่ดีและถูกต้องเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดในการชม ต้องสามารถควบคุมองค์ประกอบภายในห้องฉายดังต่อไปนี้

7.4.1 แสงสว่าง(Light Control) เครื่องฉายแต่ละชนิดต้องการความมืดไม่เท่ากัน เช่น เครื่องฉายภาพทึบแสงต้องการความมืดมากที่สุด เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายสไลด์ และเครื่องฉายฟิล์มสตริป ต้องการความมืดรองลงมา เครื่องฉายภาพยนตร์ข้ามศีรษะต้องการความมืดน้อยที่สุด คือสามารถฉายในห้องเรียนปกติได้ อย่างไรก็ตาม ห้องฉายยิ่งมีความมืดเท่าใดความสว่างและความชัดเจนของภาพยิ่งมากขึ้นเท่านั้น การฉายภาพสีต้องการความมืดมากกว่าภาพขาวดำ ห้องฉายจึงควรควบคุมไม่ให้แสงสว่างจากภาพผ่านเข้ามาได้ โดยทั่วไปจะใช้วิธีปิดประตู หน้าต่าง ส่วนด้านบนซึ่งเป็นช่องระบายอากาศ อาจจะใช้ผ้าดำขึงเป็นม่าน เพียงเท่านี้ก็พอจะทำให้ห้องฉายมีความมืดได้

7.4.2 การระบายอากาศ (Ventilation Control) เมื่อห้องฉายต้องการความมืด หน้าต่าง ประตู แม้แต่ช่องระบายอากาศถูกปิดหมด ปัญหาที่ตามมาก็คือ อากาศภายในห้องฉายจะร้อนอบอ้าว การถ่ายเทอากาศไม่สะดวกทำให้อากาศเสีย ผู้ชมจะรู้สึกฮึดอัดไม่สบาย ง่วงนอน กลิ่นไม่สู่ดีนัก ทำให้เสียสมาธิในการชมและอาจทำให้เสียสุขภาพด้วย การเรียนการสอนจะไม่ได้ผลเท่าทีควร ดังนั้น ห้องฉายควรติดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ และติดพัดลมดูดอากาศด้วย หรือใช้ผ้าม่านสีดำบังแสงแทนที่จะปิดประตูหน้าต่างหมด จะช่วยอากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น

7.4.3 ระบบเสียง (Acoustic Contorl) การฉายที่ดีไม่เพียงแต่คำนึงถึงความชัดเจนของภาพบนจอเท่านั้น ระบบเสียงมีความสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อห้องฉายปิดหน้าต่างหมดปัญหาที่ตามมาอีกอย่างก็คือ ปัญหาเรื่องเสียงก้อง ทำให้ฟังไม่ค่อยชัด ซึ่งแก้ไขโดยใช้ผ้าม่านกั้นตามฝาผนังหรือบุฝาผนังด้วยแผ่นกระดาษชานอ้อยชนิดเป็นรู (Accoustic Board) ได้ยิ่งเป็นการดีจะทำให้เสียงไพเราะน่าฟังขึ้น นอกจากนี้ควรติดตั้งลำโพงรอบๆ ห้อง เพื่อให้ได้ยินเสียงทั่วถึงกัน การติดลำโพง ฉะนั้นด้านหน้า ทำให้ผู้ชมที่อยู่หลังห้องมากๆ ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ผลจากการชมจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

7.5 การจัดที่นั่งในห้องฉายห้องฉายควรสร้างเป็นพื้นลาดหรือเป็นชั้นๆ ลงไปทางหน้าด้านที่ติดตั้งจอฉาย เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพจากการฉายได้ทั่วถึงทุกคน เครื่องฉายควรติดตั้งให้ลำแสงอยู่เหนือศีรษะของผู้ชมและเป็นแนวเดียวกับจอ โดยทั่วไปการจัดที่นั่งของผู้ชมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ควรคำนึงถึงขนาดของจอเป็นเกณฑ์ ดังนี้

1. ที่นั่งแถวหน้าสุดควรนั่งห่างจอไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความกว้างของจอ
2. ที่นั่งแถวหลังสุดควรนั่งห่างจากจอไม่เกิน 6 เท่าของความกว้างของจอ ตัวอย่างเช่น ห้องฉายห้องหนึ่งใช้จอขนาด 70x70 นิ้ว ที่นั่งแถวหน้าสุดต้องห่างจากจอไม่ น้อยกว่า 140 นิ้ว(70x2) ที่นั่งแถวหลังสุดต้องห่างจากจอไม่เกิน 420 นิ้ว(70x6)